​พูดต่อหน้าคนเป็น 1,000 ทำยังไงให้อยู่หมัด ? I SALESARM


Blog Detail

ยุคนี้ใครพูดไม่เก่ง “เสียเปรียบ”  เกิดยาก แถมดังช้า โดยเฉพาะยิ่งกลัวการพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก
ทุกครั้งที่เราอยู่บนเวทีใหญ่ คุณจะได้เปรียบมหาศาล  เพราะทุกคนจะหยุดทุกอย่าง และให้เวลาฟังเราพูด 

เราพูด 1 ชั่วโมง มีคนฟัง 1,000 คน  เท่ากับเราได้เวลามา 1,000 ชั่วโมง 
เราพูด 2 ชั่วโมง คนฟัง 1,500 คน เท่ากับเราได้เวลามา 3,000 ชั่วโมง 
“เราได้เวลามหาศาล  ที่จะพูดเรื่องอะไรก็ได้” 

เวทีออฟไลน์ช่วยเติมเต็มโลกออนไลน์เสมอ เพราะปิดจุดบอดเรื่อง “การสัมผัส” ได้ดี 
แต่ความยากคือ “ไม่ใช่ทุกคนที่ตั้งใจมาฟังเรา”
ดังนั้น ถ้าจะพูดให้คนติดใจ ผมมีวิธีเรียบเรียงเรื่องก่อนขึ้นเวที ไม่ว่าจะหลักพันหรือหลักสิบคน  หลักการก็ไม่ต่างกัน
ขอแค่มี Insight ของคนฟัง (แต่โอเค หลักพันมันจะต้องตื่นเต้นกว่าปกติอยู่แล้ว) 
ผมมี 5 Checklist สำหรับทำการบ้าน โดยจะถาม Organizer หรือผู้ประสานงาน ว่า “คนฟังเป็นใคร”
จะได้ปรับเนื้อหาให้โดนใจได้ ไม่ใช่พูดไป 3 ชั่วโมง  คนลุกเข้าห้องน้ำตั้งแต่ 20 นาทีแรก 

เรามาดูกันว่า 5 สิ่งที่ผมจะถามคืออะไรบ้างครับ… 

1) อายุ

คนรุ่นไหน รุ่นเด็กกับรุ่น 40-50 ใช้ภาษาคนละอย่างกันเลย ถ้าเจอผู้ใหญ่ก็ต้องลด English หน่อย 
การเปรียบเทียบเทียบก็ต้องเป็นแบรนด์ที่เค้ารู้จัก ดาราที่เค้าชื่นชอบ Culture ที่เค้าเติบโตมา 
บางทีคนเชิญมาเค้ารู้จักเรา แต่คนฟังไม่รู้จักเลย ไอ้นี่ใครวะ หมอกิมไหน เป็นหมอสะเหล่อมาขึ้นเวทีทำไม 
ถ้ายิ่งเจอกลุ่มคนที่อายุเยอะหน่อย เราเป็นเด็กกว่าต้องหาทางพิสูจน์ตัวเองบนเวทีนั่นแหละ เก่งยังไงให้เค้ายอมรับ
ไม่ใช่เรื่องง่าย สักแต่ว่าโชว์ของ ไม่ใช่ทุกคนที่จะนับถือนะครับ  ประมวล Energy ในห้องให้ดีว่าเป็นแบบไหน
เราควรจะแหลมคมหรือกลมกล่อม ปรับได้ ไม่มีตายบนเวทีครับ…


2) เพศ  

คนฟังกว่าพันเนี่ย มีชายหรือหญิงเป็นส่วนใหญ่ หรือคละ ๆ กัน  คนเราจะมีเพศที่ถนัดต่างกัน
บางคน Connect กับผู้ชายได้ง่าย บางคน Connect กับผู้หญิงได้ง่ายกว่า บางคนได้ทั้งคู่เลย !!! 
(เดาออกไหม ว่าผมถนัดเพศไหน ?) 

ตัวอย่างที่ใช้ มุกที่เล่น  ต้องเป็นสิ่งที่เพศนั้นเก็ต  การ Connect กับคนฟังให้เป็นพวกเดียวกัน
ต้องใช้เรื่องราวที่คนกลุ่มนั้น Buy ซึ่งถ้า Connect ไม่ได้ อย่าหวังว่าสิ่งที่เราพูดจะเข้าหูเค้าเลยครับ ไม่มีทาง !! ... 

3) ระดับความรู้ในเรื่องที่เราพูด

เป็นอีกคำถามสำคัญของผมเลย ว่าคนฟังมีความเชี่ยวชาญในสิ่งที่เราพูดแค่ไหน
พนักงานทั่วไป หรือผู้บริหาร  นักขายระดับ Top Performance หรือพนักงานใหม่ 
การเจอเซียนหรือเด็กอนุบาล  ระดับการโชว์ของ (ของเรา) มันต่างกัน 
- ความรู้ระดับเด็ก มาเจอท่ายาก  เค้าก็บอกเราสอนไม่รู้เรื่อง
- ความรู้ระดับเซียน เจอหลักคิดเบื้องต้น  เค้าก็บอกเราไม่เก่งเท่าไหร่ 

Basic เท่าไหร่ หรือ Advance แค่ไหน  ปรับสัดส่วนเนื้อหาให้ดี ให้คนฟังเข้าใจเนื้อหา 
และรับรู้ความสามารถของเราไปพร้อมกัน ๆ ครับ… 

4) สถานที่

เมื่อเราเป็น Speaker หลัก พื้นที่ของเรามันกว้างใหญ่กว่าแค่เวที  นึกถึงภาพห้องประชุมใน Impact Arena ทั้ง Stage
ทั้งบริเวณทุกส่วนของห้อง  มันเป็นของเรา  คนดูอยู่ข้างล่าง เค้าจะมองเห็นเราจริง ๆ ไหม
จะมองเห็นข้อความในสไลด์ไหม  เราต้องเดินลงไปทำกิจกรรมอะไรไหม แล้วทำกิจกรรมอะไรดีล่ะ 
ถ้าคนชนะกิจกรรมแล้วของแจกล่ะ  เค้าอยากได้อะไร  คิดให้รอบ การพูดบนเวที ไม่ใช่การพูดต่อหน้า… 

5) ระยะเวลา 

คนส่วนใหญ่สามารถพูด 1-2 ชั่วโมง โดยที่ไม่ต้องเตรียมอะไรมากนัก แต่ถ้ามันเลยไป 3 ชม. 
เราต้องทำการบ้านหนัก  ถ้าเป็นช่วงบ่ายจะเปิดด้วยอะไร ?  ทำให้คนหายง่วง ? 
และบางที Topic ที่ได้รับมอบหมาย กับ Topic ที่คนฟังข้างหน้าอยากฟัง บางทีมันเป็นคนละเรื่องกัน 
ถ้าคนเก๋าเวทีก็จะเตรียมมาเผื่อไว้  ถ้าผิดจากที่โดนบรีฟมา ก็ซัดได้เต็มข้อ 
สำคัญคือ มันจะต้องมี Action บางอย่าง ที่เราอยากให้คนฟังจำ หรือคนฟังกลับไปทำ 
ไปอันเฟรนด์แฟนเก่า กลับไปรีโนเวตการแต่งตัว เริ่มโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับงาน 
เพราะถ้าคนฟังฟังเฉย ๆ มันก็จะผ่านไป เป็นอีก 2-3 ชั่วโมงที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง 

พยายามโน้มน้าวให้คนฟังกลับไปทำอะไรสักอย่าง  แล้วเค้าจะไม่มีวันลืมเรา เพราะเราทำให้เค้าเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ